สอบตกวิชาเขียนโปรแกรมก็เป็น Developer ได้

จากนิสิตที่เคยสอบตกวิชาเขียนโปรแกรม (ได้ 13 เต็ม 300!) ไม่เคยมีพื้นฐานหรือความรู้อะไรเกี่ยวกับการเขียนโปรแกรมเลย แต่ในที่สุดกลับเลือกเรียนสาย Computer

ผมเคยเป็นคนที่ไม่เคยรู้อะไรเลยเกี่ยวกับการเขียนโปรแกรมจริงๆครับ

อาจจะเป็นเพราะว่าที่โรงเรียนมัธยม วิชาเขียนโปรแกรมเป็นวิชาที่ถูกละเลย

อาจารย์ก็สอนบ้างไม่สอนบ้าง บางครั้งก็ปล่อยเด็กเล่นเกมส์บ้าง และแน่นอนครับผมก็เป็นหนึ่งในเด็กที่เล่นเกมส์ในห้องเรียนเช่นกัน

เอาง่ายๆคือวิชาคอมพิวเตอร์ทำให้ผมเล่นเกมส์เก่งขึ้นโข แต่เขียนโปรแกรมไม่เป็นซักนิด...

เนื่องจากผมมีความถนัดในวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์อยู่บ้าง และก็ไม่ได้แน่ใจว่าตัวเองอยากจะเรียนอะไรจริงๆ ผมเลยตัดสินใจเตรียมตัวสอบ คณะวิศวฯ ที่มหาวิทยาลัยจุฬาฯ

ที่ผมเลือกสอบเข้าที่จุฬาฯก็ด้วยเหตุผลง่ายๆครับ ไม่ใช่เพราะว่าผมเก่ง แต่เพราะว่าจุฬาฯเป็นหนึ่งในมหาวิทยาลัยที่มีคณะวิศวฯที่ดีที่สุดในประเทศไทยนั่นเอง (ถ้าอยากรู้เกี่ยวกับการเตรียมตัวสอบเข้า วิศวฯจุฬาฯ ในอนาคตผมอาจจะได้มาเขียนเล่าให้ฟังทีหลังครับ)

หลังผ่านการเตรียมตัวสอบอย่างหนัก ทั้งเรียนพิเศษและอ่านหนังสืออย่างเอาเป็นเอาตาย ก็ทำให้ผมเข้าวิศวฯจุฬาฯได้ในที่สุด ตอนนั้นทั้งกดดันทั้งเครียด จนเป็นโรคกระเพาะเลยหล่ะครับ แต่ว่าผลที่ออกมาก็ถือว่าคุ้มค่าเพราะผมได้เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย ทุกอย่างดูเหมือนว่าจะเป็นดั่งหวัง และดูเหมือนว่าจะจบอย่างสวยงาม แต่ที่ไหนได้ ความจริงชีวิตเพิ่งจะเริ่มต้นต่างหาก...

เมื่อเริ่มเรียนวิศวฯปี 1 (ตอนนั้นปี 2016 - 2017 นี่หล่ะครับ) ผมก็พบว่าการเรียนที่นี่ยากกว่าที่คิดไว้ ถึงแม้ว่าจะตั้งใจอย่างมากจนทำคะแนนได้ดีหลายวิชา แต่แล้วก็ต้องมาเจอของแข็งเข้าจนได้

Computer Programming!

ใช่แล้วครับ ผมกับการเขียนโปรแกรมได้โคจรมาเจอกันอีก วิชาที่ผมเคยชอบที่สุดสมัยมัธยม (แน่สิเพราะได้นั่งเล่นเกมตลอดเลยไง...)

fredrick-tendong-6ou8gWpS9ns-unsplash.jpg

อาจารย์สอนภาษา Python ซึ่งผมเข้าไปเรียนแบบไม่รู้เรื่องอะไรเลย อาจารย์ก็สอนไป ผมทำได้บ้างไม่ได้บ้าง ไม่ได้สนใจหรือรู้สึกว่าเป็นวิชาที่สนุกแต่อย่างใด

แต่ทว่าวิชานี้ไม่ได้ให้คะแนนกันง่ายๆหน่ะสิครับ...

การให้คะแนนมาจากการสอบทั้งหมด 100%! และเป็นการสอบโดยต้องเขียนโปรแกรมจริงกับคอมพิวเตอร์ทั้งหมด!

โดยการสอบแบ่งออกเป็น 4 ครั้งให้คะแนนครั้งละ 25% ของเกรด

ถามว่าผมกลัวมั้ยกับวิชานี้...

กลัวสิครับ! กลัวมากๆด้วย!

ผมพยายามเตรียมตัวสอบเท่าที่ทำได้ โดยที่ตอนแรกกก็ไม่ได้รู้วิธีหรอกว่าการเตรียมตัวสอบประเภทนี้ต้องทำยังไงบ้าง ผมพยายามอ่าน Sheet ที่อาจารย์สอน และสิ่งที่ตัวเองจดมาโดยที่ไม่ได้เข้าใจ อ่านแล้วอ่านอีก ท่องแล้วท่องอีกจนคิดว่ามั่นใจในการสอบ

และแล้วการสอบครั้งแรกก็มาถึง

เวลาทั้งหมดที่ให้ในการสอบคือ 1 ชั่วโมง กับอีก 30 นาที โดยจะมีโจทย์ทั้งหมด 4 ข้อ ให้คะแนนข้อละ 100 คะแนน แต่อาจารย์อยากได้แค่ 300 คะแนนเท่านั้นในการสอบแต่ละครั้ง (ฟังดูเหมือนง่ายใช่มั้ยหล่ะ ให้ทำได้ตั้ง 400 คะแนน แต่เก็บแค่ 300)

แต่! การเก็บคะแนนจะเลือกเก็บจาก 3 ข้อที่ทำคะแนนได้มากที่สุดจาก 4 ข้อ

ยกตัวอย่างง่ายๆให้ดู สมมติว่าผมทำคะแนนออกมาอย่างนี้

  • ข้อ 1 ได้ 100/100

  • ข้อ 2 ได้ 50/100

  • ข้อ 3 ได้ 20/100

  • ข้อ 4 ได้ 80/100

ผมจะได้คะแนนทั้งหมด 230 คะแนน เต็ม 300 คะแนน มาจากการเลือกคะแนนข้อ 1, ข้อ 2, และ ข้อ 4 มารวมกัน (100 + 50 + 80 นั่นเอง)

แต่น่าเสียดายว่าคะแนนข้างต้นเป็นแค่เรื่องสมมติ เพราะคะแนนที่ผมจริงๆหน่ะหรอ 555...

13 เต็ม 300 ...

ใช่ครับผมไม่ได้พิมพ์เลข 0 ตกไป ผมได้ 13 เต็ม 300 จริงๆ โดยผมทำคะแนนได้จากโจทย์ข้อแรกเพียงข้อเดียว ได้ 13/100 คะแนน ส่วนข้อ 2 ถึง 4 หน่ะหรอ ได้ 0 ไงครับ...

และเนื่องจากเป็นการใช้คอมพิวเตอร์ตรวจ นิสิตทุกคนจึงรู้ผลสอบทันทีเลยหลังสอบ

วันนั้นเป็นหนึ่งในวันที่ผมรู้สึกแย่กับผลสอบที่สุดในชีวิต จากคนที่ปกติก็ค่อนข้างทำได้ดี หรือไม่ก็ไม่น่าเกลียด แต่ว่าได้ 13/300 นี่เรียกว่าน่าเกลียดอาจจะยังน้อยไป...

ผมไม่กล้าเอาไปเล่าให้พ่อแม่ฟังเลยหล่ะครับว่ามีสอบและทำข้อสอบได้คะแนนเท่าไหร่

ผมมีทางเลือกอยู่ 2 ทาง

  1. ลุยต่อโดยเตรียมตัวสอบอีก 3 ครั้งที่เหลือและหวังว่าจะได้คะแนนดีขึ้น

  2. ถอนวิชา Computer Programming ซะแล้วค่อยมาว่ากันใหม่เทอมหน้า

ถ้าเป็นคุณจะเลือกทางไหนครับ?

ผมเองก็เกือบเลือกเส้นทางที่ 2 เช่นกัน เพราะว่ารู้สึกว่าตัวเองไม่เหมาะกับการเขียนโปรแกรมที่สุด ทั้งๆที่คิดว่าอย่างน้อยจะได้ซัก 100/300 ในการสอบครั้งแรกด้วยซ้ำ

แต่ว่าเพราะผมได้ยินคำพูดจากเพื่อนคนนึงที่สอบได้ 300 เต็ม ครับ

เป็นคำพูดที่เจ็บแต่จริงที่พูดว่า

ข้อสอบมันไม่ได้ยากหรอก แต่มึงพยายามพอรึยัง?

คำพูดของเพื่อนผมกลับมาดังก้องอยู่ในหัวของผมอยู่ตลอด จนผมได้คำตอบว่า

ก็จริงของมันนะ เราเองอาจจะยังพยายามไม่พอเองก็ได้

ผมเลยตัดสินใจว่าจะลองอีกซักตั้งนึง

สอบอีก 3 ครั้งผมจะต้องได้เต็มให้ได้!!!

ผมฮึดสู้ขึ้นมาอีกครั้ง และคราวนี้ผมจะต้องไม่ทำพลาดแบบเดิมอีก

วิธีการอ่านหนังสือจาก Sheet และสิ่งที่จดแบบเดิม ทำแล้วมันไม่เวิร์คก็เลิกทำ ใช้วิธีอื่นแทน แล้วจะใช้วิธีไหนหล่ะ?

ถ้าไม่รู้ก็ถามคนที่รู้สิครับ!

ผมก็ถามเจ้าเพื่อนคนที่ได้คะแนนเต็มนั่นแหละ ว่าต้องเตรียมตัวยังไงเพื่อที่จะได้คะแนนเต็มเหมือนเพื่อน (ไม่ง่ายนะครับสำหรับผมที่จะถามเพื่อนในตอนนั้น เพราะว่าเราก็อายุเท่ากัน การถามเพื่อนแบบนั้นก็คือการยอมรับว่าเราไม่มีปัญญาเรียนรู้เองแบบเลี่ยงไม่ได้)

แต่ว่าตอนนั้นไม่ใช่เวลามาคิดถึงเรื่องศักดิ์ศรีแล้วหล่ะครับ เพราะว่าเป้าหมายใหม่ของผมคือการทำคะแนนสอบ อีก 3 คร้ังที่เหลือให้ได้คะแนนเต็ม

เพื่อนผมคนนั้นจึงแนะนำว่า

การที่จะเขียนโปรแกรมให้เก่งและสอบให้ได้คะแนนเต็มนั้นมีวิธีง่ายๆวิธีเดียวเลย...

ก็คือต้องฝึกซ้อมโดยการเขียนโปรแกรมจริงๆจนชำนาญเท่านั้น!

นั่นสินะ ทำไมแค่นี้เราคิดไม่ได้เพราะมันก็คือวิธีพื้นฐานที่สุดในการเรียนรู้ของมนุษย์อยู่แล้ว

ก็คือการลงมือทำนั่นเอง!

ลองสังเกตุดูสิ

ถ้าคุณอยากขี่จักรยานให้เป็น สิ่งที่คุณต้องทำก็คือ... ขี่จักรยาน

ถ้าคุณอยากเตะฟุตบอลให้เป็น สิ่งที่คุณต้องทำก็คือ... เตะฟุตบอล

ถ้าคุณอยากฟังภาษาอังกฤษให้เก่ง สิ่งที่คุณต้องทำก็คือ... ฟังภาษาอังกฤษ

.

ไม่มีทารกคนไหนเดินได้ตั้งแต่เกิด และรู้มั้ยว่าทารกใช้วิธีไหนให้ตัวเองเดินได้ อ่านหนังสือวิธีการหัดเดินหรอ?

เปล่าเลย ทารกก็แค่เดิน!

เดินแล้วล้ม ล้มแล้วก็ลุกขึ้นมาเดินใหม่ ล้มจนหัวเข่าช้ำกันทุกคน แต่สุดท้ายแล้วทุกคนก็เดินได้ รวมถึงผมและคุณด้วย เพราะเราเองก็เคยเป็นทารกมาก่อน

ผมเข้าใจสิ่งที่เพื่อนผมต้องการจะสื่ออย่างถ่องแท้ ที่เหลือก็แค่เริ่มลงมือทำ...

มันไม่ง่ายเท่าที่พูดหรอกครับ แต่มันคุ้มค่าแน่นอน และถ้าผมทำได้ คุณก็ทำได้เช่นกัน!

ผมใช้เวลาทุกวันวันละนิดวันละหน่อยในการฝึกคิดและทำโจทย์ด้วยภาษา Python และลงมือเขียนโปรแกรมจริงๆ ลองรันดูผลลัพธ์จริงๆ โดยทำติดต่อกันแบบนี้อยู่เป็นเดือนๆ และด้วยความที่ผมเป็นคริสเตียน ผมก็อธิษฐานกับพระเจ้า เพื่อขอให้พระองค์ประทานกำลังให้กับผมในการฝึกเขียนโปรแกรม

และเชื่อมั้ยครับว่าในที่สุดแล้วผมก็ทำได้...

ผมสามารถสอบรอบที่ 2 ได้ 300/300 ไม่สิความจริงผมได้ 400/300 ด้วยซ้ำเพราะทำ 3 ข้อแรกเสร็จแล้วยังมีเวลาเหลือให้ทำอีกข้อนึงเล่นๆได้อีกด้วย

และเช่นเดียวกันกับการสอบครั้งที่ 3 และครั้งที่ 4 ผมก็ได้คะแนนเต็มทั้งหมด

ยิ่งไปกว่านั้นก่อนที่ผมจะสอบรอบที่ 2 อาจารย์ออกนโยบายออกมาช่วยนิสิตได้ได้คะแนนสอบครั้งแรกน้อย โดยให้ Option เพิ่มว่า ถ้าใครอยากจะเปลี่ยน Weight คะแนนสอบของคะแนนครั้งที่ 1 กับครั้งที่ 2 สามารถทำได้โดยมีเงื่อนไขว่า สามารถเพิ่ม Weight ของคะแนนครั้งที่ 2 ขึ้น จาก 25% เป็นมากที่สุด 40% ได้ โดยที่ Weight คะแนนของครั้งที่ 1 จะลดลงไป และรวมกันได้ 50% (อย่างในกรณีนี้คือ ถ้าเลือก Weight ครั้งที่ 2 ให้เป็น 40% ครั้งที่ 1 ก็จะเหลือ 10% นั่นเอง)

ซึ่งการตัดสินใจปรับ Weight คะแนนนี้จะต้องทำก่อนสอบครั้งที่ 2 เท่านั้น (ก็คือเราต้องตัดสินใจก่อนที่จะเห็นข้อสอบของการสอบครั้งที่ 2 นั่นเอง)

และแน่นอนครับคนที่ได้คะแนนสอบครั้งแรกน้อยอย่างผมก็ต้องเลือกปรับน้ำหนักให้ครั้งที่ 2 เป็น 40% และครั้งที่ 1 เหลือ 10% อยู่แล้ว

และนั่นเองทำให้ผมได้ A มาในวิชา Computer Programming นี้

และนอกจากนั้นระหว่างทางผมยังพบว่าความจริงแล้วการเขียนโปรแกรมเนี่ยสนุกกว่าที่ผมคิดไว้เยอะมากๆเลยอีกด้วย

.

และเพราะเหตุนี้เองครับ หลังจากการที่ผมได้ลองพยายามให้เวลากับการฝึกเขียนโปรแกรมอย่างเต็มที่ โดยที่ไม่ยอมเลิกล้มความตั้งใจง่ายๆ

ทำให้จากคนที่ไม่มีความรู้เรื่องเขียนโปรแกรมเลย และเคยสอบตก มีประสบการณ์ที่ไม่ดีกับการเขียนโปรแกรม กลับค่อยๆเริ่มชอบมากขึ้น จากการที่ค่อยๆเรียนรู้ ทีละเล็กละน้อย ค่อยๆฝึกทำโจทย์ไปทีละข้อๆ

จากง่ายไป ปานกลาง

จากปานกลาง ไปยาก

และในที่สุดสามารถพิชิตข้อสอบได้ แต่ว่ามันไม่ได้จบที่การทำข้อสอบได้คะแนนเต็มหรอกครับ

สิ่งที่ติดตัวผมตลอดมาตั้งแต่ตอนนั้นก็คือความชอบในการเขียนโปรแกรมนั่นเอง

ตั้งแต่นั้นมาผมจึงเลือกที่จะเข้าเรียนต่อปี 2, 3, และ 4 ในสาขา วิศวฯคอมพิวเตอร์ และได้มีโอกาสฝึกงานในบริษัท Startup แห่งหนึ่งในประเทศไทยในตำแหน่ง Software developer (ซึ่งปัจจุบันผมทำงาน Full-time กับที่นี่อยู่ครับ)

.

จะว่าไปแล้วพอนึกย้อนกลับไปมันก็ไม่ง่ายเลยนะครับ ในการฝึกฝน แต่สิ่งที่สำคัญคือเราต้องไม่ยอมแพ้เร็วเกินไป การลองทำอะไรแค่ครั้งเดียวแล้วเลิก ไม่ใช่วิธีที่จะทำให้คนเราสำเร็จได้หรอกครับ

แต่เราต้องลองทำสักระยะนึงต่างหาก อาจจะเป็น 1 สัปดาห์, 2 สัปดาห์, หรือ 1 เดือน ถึงอาจจะเริ่มบอกได้ว่าเราชอบมันหรือเปล่า หรือเราสามารถไปต่อได้มั้ย

และเชื่อผมครับ ถ้าสิ่งนั้นมีความหมายเพียงพอ วันที่คุณทำมันได้สำเร็จ คุณจะรู้ว่ามันคุ้มค่ากับความพยายามอย่างแน่นอน

.

สุดท้ายนี้มีสิ่งที่ผมอยากจะบอกทุกคนอยู่ครับ

นั่นก็คือ ไม่ว่าทุกคนมีความคิดอยากที่จะทำอะไร หรือเปลี่ยนแปลงตัวเองในด้านไหน

อย่าเพิ่งด่วนสรุปว่าคุณทำไม่ได้

ไม่ว่าความคิดนั้นอาจจะมาจากความคิดของคุณเอง หรือมีคนรอบข้างมาบอกคุณว่าคุณทำไม่ได้ก็ตาม

เพราะความจริงแล้ว ทุกๆคนมีความสามารถพอที่จะทำสิ่งที่คุณหวังไว้ได้ ขอแค่เพียงเรามีแนวทางที่ถูกต้องและวินัยในการลงมือทำ

.

ขอพระเจ้าอวยพรทุกคนนะครับ

📖 เรียนรู้เพิ่มเติม