ไม่มีหัวศิลป์ ไม่เก่ง Design เขียน Web ได้ไหม?

คนที่ไม่มีหัวด้านศิลปะ ไม่ค่อยมีความคิดสร้างสรรค์​ ไม่เก่ง Design จะสามารถเขียน Web ได้ไหม บทความนี้มีคำตอบครับ

ผมเป็นคนนึงที่ไม่มีหัวด้านศิลปะ และไม่มีความคิดสร้างสรรค์เท่าไหร่เลย แต่ผมก็ทำอาชีพ Developer มาหลายปีแล้วครับ และผมอยากจะบอกว่า ไม่มีหัวศิลป์ ก็เขียนเว็บได้ครับ

🍰 ส่วนประกอบหลักของเว็บ

โดยปกติแล้วเวลาพูดถึงงานการพัฒนาเว็บไซต์ เรามักจะแบ่งมันออกมาได้เป็น 2 ส่วนครับ นั่นก็คือ

  1. Front-end หรือ งานหน้าบ้าน

  2. Back-end หรือ งานหลังบ้าน

โดยที่งาน Front-end และ Back-end จะเป็น 2 ส่วนที่ทำงานร่วมกันเสมอเวลาที่เราพัฒนา Web application และงานทั้ง 2 แบบนี้แตกต่างกันยังไง และต้องใช้ทักษะอะไรบ้าง เราไปดูไปทีละตัวกันครับ

😆 Front-end (หน้าบ้าน)

Front-end หรืองานหน้าบ้าน ก็ตรงตามชื่อครับ คืองานที่เกี่ยวกับส่วนเว็บที่ User หรือผู้ใช้งานจะได้เห็น และได้ใช้งานโดยตรงนั่นเอง ไม่ว่าจะเป็น การออกแบบหน้าเว็บไซต์ หรือการพัฒนาหน้าเว็บไซต์

Screen Shot 2565-01-27 at 16.55.15.png

นักพัฒนา Front-end จะต้องคำนึงถึง UX (User's Experience) หรือประสบการณ์ในการใช้งานหน้าเว็บไซต์ของเราเป็นหลัก อันจะนำมาซึ่งเว็บไซต์ที่ใช้งานได้ตอบโจทย์ และนอกจากนั้น เราจะต้องคำนึงถึง ความสวยงาม ความน่าเชื่อถือ และความน่าดึงดูดใจ ของเว็บไซต์อีกด้วย

งานส่วน Front-end ถ้าใครที่มีทักษะด้านจินตนาการหรือความคิดสร้างสรรค์ก็จะได้เปรียบหน่อยๆครับ เพราะว่าเราจะต้องทำงานในส่วนที่ User เห็นและได้ใช้งาน ถ้ามีหัวด้านนี้ก็จะช่วยให้ออกแบบ และทำหน้าเว็บออกมาได้สวยงามและรวดเร็วมากขึ้น

แต่ไม่ต้องตกใจครับ ผมเองไม่มีหัวจินตนาการเอาซะเลย แต่ผมก็ทำงานในตำแหน่ง Front-end developer ได้อยู่เป็นปีๆ ครับ เพราะว่าเรามีเทคนิคหลายอย่างที่จะช่วยลดงานความคิดสร้างสรรค์ของเราลงไปได้นั่นเอง ซึ่งเทคนิคมีอะไรบ้าง ขอให้คุณผู้ชมอ่านต่อไปครับ

🔙 Back-end (หลังบ้าน)

Back-end หรืองานหลังบ้าน เป็นส่วนที่ไม่ได้ถูกเห็นโดยผู้ใช้งานโดยตรง แต่ก็เป็นส่วนที่สำคัญไม่แพ้กับ Front-end ครับ โดยงานส่วน Back-end นี้จะพบได้กับเว็บไซต์ที่มีความซับซ้อนมากขึ้น อย่างพวก Web application เป็นหลักเช่น Youtube, Facebook, หรือ Instagram เป็นต้น

chris-ried-ieic5Tq8YMk-unsplash.jpg

Photo by Chris Ried on Unsplash

ทักษะที่ต้องใช้เต็มๆสำหรับงานหลังบ้านหรือ Back-end ก็คือทักษะการเขียนโปรแกรมหรือ Programming ทักษะการใช้งานระบบฐานข้อมูลหรือ Database เป็นหลัก

ซึ่งงานส่วนนี้ให้พูดง่ายๆคือ ไม่ต้องใช้หัวศิลป์ หรือทักษะด้านจินตนาการที่เกี่ยวกับความสวยงามเลย แต่ทักษะที่เราต้องใช้เป็นหลักคือทักษะการเขียนโปรแกรมหรือ Programming และทักษะการใช้งานระบบฐานข้อมูลหรือ Database

โดยถ้าระบบใหญ่ขึ้น เราจะต้องใช้ทักษะอื่นๆมาช่วย เช่นทักษะการออกแบบโครงสร้างหรือ Infrastructure ทักษะการใช้งานบริการ Cloud service เป็นต้น เพื่อที่จะทำให้ระบบที่เราพัฒนาสามารถ Scale หรือขยายขนาด รองรับการใช้งานได้มากยิ่งๆขึ้นไปครับ

Front-end 🆚 Back-end

Front-end หรือ Back-end ดีกว่ากัน? ผมขอบอกเลยว่า ทั้งสองส่วนมีข้อดีและข้อเสียของตัวเองครับ แต่จะขอพูดถึงประเด็นที่ผมคิดว่าสำคัญกับคุณผู้อ่านทุกคนครับ

  • Front-end ดีกว่า สำหรับการเริ่มต้นเรียนรู้

เพราะว่า Front-end เป็นส่วนที่เราทุกคนได้พบได้เจอกันในทุกวันของชีวิตอยู่แล้ว เช่นเราตื่นมาไถ Facebook ทุกเช้า เราก็ได้ใช้งานส่วนที่เป็นหน้าบ้านของ Facebook นั่นเอง ซึ่งการที่มันเข้าใจง่ายเนี่ยแหละ จะทำให้เราเรียนรู้ได้เร็วกว่าส่วนที่เรามองไม่เห็นอย่าง Back-end

  • Back-end ดีกว่าสำหรับคนที่ไม่มีหัวศิลป์

เพราะว่า Back-end ไม่ต้องใช้ทักษะเรื่องความสวยงาม แต่เหมาะกับคนที่ชอบเรื่องการเขียนโปรแกรม และ การออกแบบระบบ อย่างตัวผมเองเริ่มต้นเรียน Front-end ก่อน แล้วพอผมเริ่มเข้าใจแล้ว ค่อยขยับมาศึกษา Back-end และพบว่าตัวเองชอบงาน Back-end มากกว่าครับ

  • Front-end และ Back-end ทำงานร่วมกันเสมอ

เจ้า 2 ส่วนนี้เป็นส่วนที่ทำงานร่วมกัน นั่นคือ Front-end ทำหน้าที่เหมือนพนักงานต้อนรับในร้านอาหาร คอยดูแลลูกค้า รับออร์เดอร์อาหาร หรือ User ที่เข้ามาใช้งานเว็บไซต์ของเรานนั่นเอง

ส่วนงานที่ต้องอาศัยการคำนวณ หรือการเขียน/อ่าน ฐานข้อมูล จะเป็นงานของ Back-end ที่เปรียบเสมือนเชฟที่ทำอาหารอยู่ในห้องครัว โดยจะต้องรับออร์เดอร์ที่มาจาก Front-end อีกทีนึง แล้วจึงทำอาหารตามที่ลูกค้าต้องการ ให้พนักงานต้อนรับ หรือ Front-end เอาไปเซิร์ฟให้กับลูกค้า

เช่นถ้าเราเข้า Facebook แล้วกดเข้าไปดู Profile ของเพื่อนเราคนนึง สิ่งที่เกิดขึ้นคือ Front-end ของ Facebook จะทำการส่ง HTTP request มาที่ Back-end ของ Facebook เพื่อขอข้อมูลของเพื่อนเรามาให้

จากนั้น Back-end ก็จะทำการค้นข้อมูลจากฐานข้อมูล และส่งกลับมาให้ Front-end เป็นคนแสดงผลให้ เราเห็นนั่นเอง

😵 ไม่มีหัวศิลป์ทำไง?

ผมเองไม่มีหัวศิลป์เลย แต่ก็ทำงาน Front-end มาเป็นปีๆ ผมมีเทคนิคอะไรมาแนะนำบ้าง?

ผมมีเทคนิคมาแนะนำ 3 อย่างครับคือ

  1. ใช้ Template

  2. ทำงานกับ Designer

  3. ทำเฉพาะ Back-end

🖼 ใช้ Template

การใช้ Template เป็นการช่วยให้เราไม่ต้องออกแบบหน้าเว็บของเราเอง เพราะว่าเราใช้สิ่งที่คนที่มีหัวศิลป์หรือหัวคิดสร้างสรรค์มากกว่าเราทำเอาไว้มาต่อยอด และที่ๆมี template ฟรีๆมีเยอะแยะครับแค่ลอง Search บน Google ว่า free web design html css templates เราก็จะเจอกับเว็บไซต์ที่แจก Template ฟรี และขาย templates ดีๆมากมาย ยกตัวอย่างเช่น

แต่อย่าติดกับกับการใช้ Template มากเกินไปนะครับ ผมหมายความว่าถ้าเราเริ่มต้นงานเราด้วย Template เราไม่จำเป็นที่จะต้องยึดติดกับ Template ตลอด ถ้าหากมีอะไรที่เราคิดว่าควรจะปรับแต่งเอง ก็อย่ากลัวที่จะปรับแต่งเองครับ

🎨 ทำงานกับ Designer

วิธีนี้ผมใช้บ่อยที่สุดเลยครับ เนื่องจากผมทำงานอยู่ในบริษัท Tech startup อยู่แล้ว นั่นหมายความว่าผมได้ทำงานร่วมกับ Web designer มืออาชีพ ที่เค้าจะคอยทำหน้าที่ออกแบบทั้ง User experience (UX) และ User interface (UI) ให้ผมเรียบร้อย หน้าที่ของผมคือการนำ Design เหล่านั้นมาแปลงเป็น Website ที่ทำงานได้จริงครับ

🧑🏻‍💻 ทำเฉพาะ Back-end

วิธีนี้เป็นวิธีที่ตรงไปตรงมาที่สุดสำหรับคนไม่มีหัวศิลป์นั่นก็คือ ไม่ต้องไปทำงานที่ต้องใช้หิวศิลป์นั่นเอง หนีมาทำ Back-end อย่างเดียว ใช้ทักษะด้านตรรกะ และการเขียนโปรแกรมชั้นเลิศของคุณให้เต็มที่ วิธีนี้ก็เป็นอีกวิธีนึงที่จะตอบโจทย์ครับ

แต่นั่นหมายความว่าถ้ามีงานส่วน Front-end เนี่ยเราก็จะไม่ทำด้วยตัวเองแต่ต้องหาคนอื่นมาทำงานส่วนนี้ให้เราครับ ซึ่งถ้าอยู่ในบริษัทเนี่ย ก็จะมีคนที่ทำทั้ง Back-end และ Front-end อยู่แล้ว

📚 สรุป

หัวศิลป์หรือจินตนาการด้านความสวยงามของหน้าเว็บ ไม่จำเป็นสำหรับการทำงานเขียนเว็บครับ แต่ถ้าใครมีหัวด้านนี่เนี่ย ก็ถือเป็นข้อได้เปรียบครับ

งานพัฒนาเว็บไซต์ประกอบไปด้วยหลายส่วน และผมเชื่อว่าคุณก็สามารถเรียนรู้และทำงานส่วนที่เหมาะกับตัวคุณเองได้อย่างแน่นอน

และผม Coding Beaver ก็อยากจะเป็นคนนึงที่เตรียมคุณให้พร้อมสำหรับการเป็น Software developer ขอแค่คุณสนใจ

ลองอ่าน บทความอื่นๆ ของผม หรือ เริ่ม เรียนผ่าน Youtube ก็น่าจะเป็นการเริ่มต้นที่ดีครับ

Coding Beaver ขอเป็นกำลังใจให้ทุกคนนะครับ

ขอพระเจ้าอวยพรครับ

📖 เรียนรู้เพิ่มเติม